แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด


ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดเลย



อำเภอเมือง

สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ป่าเลิงใหญ่
เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อยู่ตรงข้ามเทศบาลเมืองเลย มีการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่รอบสวนสาธารณะติดแม่น้ำเลย นักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านสะพานแขวนเข้าไปเที่ยวชมได้

สวนสาธารณะกุดป่อง
อยู่ด้านหลังศาลเจ้าพ่อกุดป่อง มีคูน้ำล้อมรอบ ภายในสวนสาธารณะตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ อย่างสวยงาม ดูร่มรื่น ใช้เป็นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย

ศาลหลักเมืองเจ้าพ่อกุดป่อง
เป็นศาลเก่าแก่เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตดวงวิญญาณเจ้าพ่อทองคำองค์เสาหลักเมืองทำด้วย ไม้ราชพฤกษ์ ความสูงจากฐานถึงยอด 179 เซนติเมตร ยอดเสาแกะสลักลงรักปิดทองทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมศาลเมื่อ พ.ศ. 2525 มีประชาชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย
ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏเลย เป็นอาคาร 2 ชั้น รวบรวมและเผยแพร่เรื่องราวทางด้านศาสนา ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวเลยในหลาย ๆ ด้าน ภายในตัวอาคารศูนย์วัฒนธรรมมีการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก ห้องประชุมและฉายสไลด์เกี่ยวกับเมืองเลยและแสดงข้าวของเครื่องใช้ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในอดีต

ส่วนที่สอง ห้องนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูปเก่าที่ทำมาจากไม้ หินทราย ดินเผาและเงิน หน้ากากผีตาโขน ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งของทั้งหมดได้มาจากชาวบ้านในท้องถิ่นเมืองเลย นอกจากนี้ยังมีส่วนนิทรรศการหมุนเวียนทุก 3 เดือนโดยจัดแสดงเรื่องราวต่างๆของเมืองเลยตามเทศกาลประเพณี

ส่วนที่สาม มีห้อง "เบิ่งไทเลย" เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรถือเป็นส่วนสำคัญและจัดแสดงได้โดดเด่นที่สุด ภายในห้องขนาดใหญ่นี้จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดเลย เนื้อหาของนิทรรศการครอบคลุมในทุกด้านทั้งธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ประเพณีและกลุ่มชาติพันธุ์ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ถ้าต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการเข้าชม ติดต่อที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สถาบันราชภัฎเลย ถนนเลย-เชียงคาน อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0 4283 5223-8 ต่อ 1132

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-เชียงคาน)


กลุ่มทอผ้าไทเลยบ้านก้างปลา
อยู่ที่บ้านก้างปลา มีการรวมตัวกันทอผ้าไทเลย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด มีการสาธิตการทอผ้า และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าผืน เสื้อบุรุษ ชุดสตรี ผ้าขาวม้า กระเป๋า เป็นต้น การเดินทาง ใช้เส้นทางเลย-เชียงคาน (ทางหลวงหมายเลข 201) ออกจากตัวเมืองไปประมาณ 4 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านก้างปลาไปอีก 1 กิโลเมตร


พระพุทธบาทถ้ำผาบิ้ง
อยู่บริเวณวัดถ้ำผาบิ้ง บ้านผาบิ้ง ตำบลนาแก ห่างจากอำเภอวังสะพุง 9 กิโลเมตร กรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถานพร้อมกับพระธาตุศรีสองรัก เมื่อ พ.ศ. 2498 เมื่อนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปในถ้ำจะมองเห็นพระพุทธบาทขนาดใหญ่อยู่บนเพดานถ้ำ ลวดลายและนิ้วพระบาทไม่ปรากฏเด่นชัด ขนาดกว้าง 2 ฟุต ยาว 3 ฟุต การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 201 (อำเภอเมือง-วังสะพุง) แล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ


อำเภอท่าลี่

พระธาตุสัจจะ

ตั้งอยู่บริเวณวัดลาดปู่ บ้านท่าลี่ ตำบลท่าลี่ ไปตามทางหลวงหมายเลข 201 แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2115 สายท่าลี่-อาฮี ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าลี่ประมาณ 2 กิโลเมตร องค์ประกอบของพระธาตุสัจจะ ประกอบด้วยดอกบัวบานมีกลีบ 3 ชั้น สูงประมาณ 1 เมตร ตั้งอยู่รอบองค์พระธาตุสัจจะ องค์พระธาตุสูง 33 เมตร มีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับพระธาตุพนม มีเศวตฉัตร 7 ชั้น ประดิษฐานไว้บนยอดสุดของพระธาตุสัจจะ


อำเภอเชียงคาน



แก่งคุดคู้
เป็นแก่งหินใหญ่ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ในช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดี ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง ในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมจนมองไม่เห็นแก่ง เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้คือเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้งมองเห็นเกาะแก่งชัดเจนมีโค้งสันทรายริมแม่น้ำ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสสายน้ำโขงและธรรมชาติสองฝั่งอย่างใกล้ชิด ท่าเรือบริเวณลานจอดรถมีบริการเช่าเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขงโดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีร้านขายอาหารเช่นไก่ย่าง ส้มตำ ลาบ โดยเฉพาะพล่า กุ้งเต้น ต้มยำปลาจากลำน้ำโขงเป็นอาหารแนะนำในราคาไม่แพง การเดินทางจากตัวอำเภอเชียงคานนักท่องเที่ยว สามารถนั่งรถสายรอบเมืองไปแก่งคุดคู้ได้ซึ่งห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร

วัดศรีคุณเมือง






อยู่ที่ถนนชายโขง ซอย 7 สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา ศิลปวัตถุที่สำคัญมีหลายชิ้น เช่นพระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยแบบล้านช้าง พระพุทธรูปดังกล่าวมีพระเกศาเป็นปุ่มแหลมเล็ก พระกรรณค่อนข้างแหลมและยาว สันนิษฐานว่ามีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 นอกจากนี้ในวัดยังมีธรรมาสน์แกะสลักไม้ลงรักปิดทองทุกด้านที่พนักหลังมียอด คล้ายปราสาท ด้านหน้าโบสถ์มีภาพจิตรกรรฝาผนังอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดกชุดพระเจ้าสิบชาติซึ่งวาดขึ้นใหม่แทนของเดิม


วัดท่าแขก
เป็นวัดเก่าแก่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากอำเภอเชียงคาน 2 กิโลเมตร ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ ปัจจุบันเป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์สกัดจากหินทรายทั้งก้อน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี


วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน
อยู่ที่บ้านอุมุง ตำบลบุฮม การเดินทาง ใช้เส้นทางสายเชียงคาน-ปากชม ระยะทาง 6 กิโลเมตร ถึงหมู่บ้านผาแบ่นมีทางแยกเข้าบ้านอุมุง 3 กิโลเมตร จะถึงทางขึ้นเขาเป็นทางลูกรังระยะทาง 1 กิโลเมตร พระพุทธบาทภูควายเงินเป็นรอยพระพุทธบาทยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้าง 65 เซนติเมตร ประดิษฐานบนหินลับมีด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อพ.ศ. 2478 รอยพระพุทธบาทภูควายเงินเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในแถบนี้มาก สมัยก่อนครั้งที่การเดินทางมานมัสการยังลำบาก เชื่อกันว่าคนที่มีบุญวาสนาเท่านั้นจึงจะเดินทางมากราบไหว้ได้ คนที่วาสนาไม่ถึงจะต้องมีเหตุให้มาไม่ได้ ทั้งที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ก็ตาม บางคนก็หลงทาง ทุกปีในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 3 ทางวัดจะจัดงานสมโภชประจำปีถือเป็นงานสำคัญของชาวบ้านในแถบนี้



อำเภอภูเรือ

สวนส้มสยามภูเรือ
อยู่ที่บ้านแก่งแล่น เป็นสวนส้มโชกุนขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่ปลูกนับร้อยไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสวนและเลือกซื้อส้มโชกุนที่มีรสชาติหวานอร่อย เป็นของฝากได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 1975 4212 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเรือประมาณ 15 กิโลเมตร


สถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ




เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านวิชาการในการศึกษาค้นคว้าทดลองไม้ดอกไม้ผล ทั้งของเมืองหนาวและพืชสวนของท้องถิ่นที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศและระบบนิเวศ จากนั้นก็ถ่ายทอดเผยแพร่ผลของการศึกษาวิจัยแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจต่อไป นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าชมไม้ผลและไม้เมืองหนาวควรไปช่วงเดือนกันยายน-เมษายน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4289 1398,0 4289 1199

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามเส้นทางภูเรือ-เลยอีกเช่น สวนส้มโชกุนสยามภูเรือ แปลงปลูกและจำหน่ายเห็ดหอม ต้นคริสมาสต์ และไร่องุ่นชาโต้ เดอ เลย อำเภอด่านซ้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวเกษตรจังหวัดเลย โทร. 0 4281 1643 โทรสาร 0 4281 3345


อุทยานแห่งชาติภูเรือ


เป็นภูเขาสูงใหญ่ บนยอดเขาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีต้นสนขึ้นสลับซับซ้อน มีลักษณะแปลกคือมีส่วนหนึ่งเป็นผาชะโงกยื่นออกมาเหมือนหัวเรือสำเภาใหญ่ อุทยานแห่งชาติภูเรือ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ มีเนื้อที่ประมาณ 75,525 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2522 เดือนที่เหมาะมาเที่ยวคือเดือนตุลาคม ถึงมีนาคม

การเดินทาง จากตัวเมืองเลยใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (เลย-ภูเรือ) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาบริเวณหลักกิโลเมตร 49-50 ตรงที่ว่าการอำเภอภูเรือ เข้าไปเป็นทางลาดยางประมาณ 8 กิโลเมตร รถยนต์สามารถขึ้นได้ และมีทางเดินเท้า 700 เมตร ก็จะถึงยอดภูเรือ


ไร่สัณยา
อยู่ที่บ้านแก่งแล่น ไร่นี้ผลิตเห็ดหอมตลอดทั้งปี เพื่อจำหน่ายในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมและซื้อผลิตภัณฑ์เป็นของฝาก นอกจากนั้นยังมีที่พักบริการ การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) ห่างจากตัวที่ว่าการอำเภอภูเรือประมาณ 14 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 1954 3573, 0 1975 7623


คำนวนเนิร์สเซอร์รี
อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอภูเรือ 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีไม้ดอกเมืองหนาวและไม้ประดับ โดยเฉพาะพิทูเนียแขวนและคริสต์มาส นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของพันธุ์ไม้และเลือกซื้อเป็นของฝาก การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) ห่างจากตัวเมืองเลยประมาณ 47 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4280 1138-9


น้ำตกปลาบ่า หรือ น้ำตกตาดสาน
อยู่ที่หมู่ 1 บ้านปลาบ่า ตำบลปลาบ่า เป็นน้ำตกที่ตกมาจากแผ่นหินขนาดใหญ่ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง เหมาะสำหรับเล่นน้ำและนั่งพักผ่อนรับประทานอาหาร บริเวณน้ำตกยังไม่มีร้านอาหาร

การเดินทาง
ใช้เส้นทางหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57-58 เลี้ยวซ้ายทางเดียวกับสถานีทดลองเกษตรที่สูงภูเรือ (บ้านกกโพธิ์) เข้าไปตามทางลาดยาง 7 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านปลาบ่า จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามทางลาดยางอีกประมาณ 2 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก


บริษัท ที เอส เอ จำกัด
อยู่ที่บ้านกกโพธิ์ ผลิตไม้ดอกไม้ประดับพืชผักต่างๆเพื่อเพาะเมล็ดสำหรับจำหน่าย ภายในบริเวณสามารถเที่ยวชมแปลงไม้ดอกเมืองหนาวนานาพันธุ์ที่สวยงามได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 4289 1408 การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 203 (ภูเรือ-ด่านซ้าย) ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร




อำเภอภูหลวง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง



ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ ภูหลวงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีพื้นที่ประมาณ 560,593 ไร่

สภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบสูง อากาศเย็นตลอดปี ตั้งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอวังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง

ฤดูกาลบนภูหลวงมี 3 ฤดูเหมือนพื้นราบแต่ระดับอุณหภูมิต่างกัน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20-24 องศาเซลเซียสจะมีดอกไม้ที่มีสีสันเจิดจ้าสวยงามเช่นเอื้องตาเหิน กล้วยไม้ป่าดอกขาว กุหลาบขาวและกุหลาบแดง ฤดูฝนอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม อุณหภูมิใกล้เคียงหรือสูงกว่าหน้าร้อนเล็กน้อยจะมีดอกไม้ป่าดอกเล็กๆ สีชมพูอมม่วงขึ้นแซมตามทุ่งหญ้าและเทียนน้อย ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงมาก เฉลี่ย 0-16 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม บางวันอุณหภูมิลดลงถึง -4 องศาเซลเซียสจะมีก่วมแดงหรือที่รู้จักกันว่าเมเปิ้ล จะเปลี่ยนสีแดง แล้วผลัดใบ ตามพื้นดินจะเห็นต้นกระดุมเงินและรองเท้านารีปีกแมลงปอ ขึ้นอยู่บนก้อนหินและตามพื้นป่าดิบเขา ด้านตะวันออกของเทือกภูหลวงมีการค้นพบซากหินรอยเท้าไดโนเสาร์อายุกว่า 120 ล้านปี นอกจากนี้ยังมีป่าหลากชนิด เช่น ป่าผลัดใบหรือป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา แต่ป่าที่โดดเด่นที่สุดบนภูหลวง คือป่าสนสองใบ สนสามใบ และทุ่งหญ้าตามพื้นที่ราบ เนินเขาและลานหิน



อำเภอภูกระดึง

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง


เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ ลักษณะเด่นของอุทยานฯ แห่งนี้คือเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด เป็นที่ราบขนาดใหญ่คล้าใบบอนหรือรูปหัวใจ มีเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูง 400-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนเดินทางมาท่องเที่ยวป่าเขาที่ภูกระดึง นักท่องเที่ยวควรสำรวจสุขภาพตัวเองก่อนว่าพร้อมจะเดินและปีนป่ายเขาที่มีระยะทาง ร่วม 9 กิโลเมตร (ขึ้นเขา 5 กิโลเมตร ทางราบอีกประมาณ 3-4 กิโลเมตร) เพื่อจะขึ้นไปบนที่ราบยอดภูได้หรือไม่ อุทยานฯ ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีฐาน ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505



อำเภอด่านซ้าย

วัดเนรมิตรวิปัสสนา



ตั้งอยู่สูงเด่นอยู่บนเนินเขา ห่างจากพระธาตุศรีสองรักเพียงเล็กน้อย พระอุโบสถและเจดีย์ภายในวัดก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ที่เกิดจากจินตนาการสร้างสรรค์ออกแบบโดยพระและเณร ภายในพระอุโบสถตกแต่งไว้ตามแบบศิลปะส่วนกลาง มีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน และมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงพ่อมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและได้มรณภาพแล้วประดิษฐานอยู่และมีภาพจิตรกรรมที่สวยงาม ประดับอยู่โดยรอบพระอุโบสถ นอกจากนี้บริเวณพื้นที่โดยรอบมีการจัดแต่งสวนต้นไม้ที่ร่มรื่นสวยงาม และมีต้นไม้ที่สำคัญทางพุทธศาสนาคือ "ต้นสาละ" เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ


สวนองุ่นภูเรือวโนทยาน หรือ ชาโต้ เดอ เลย
เป็นสวนองุ่นที่มีพื้นที่นับพันไร่ มีทั้งองุ่นที่รับประทานสดและองุ่นสำหรับผลิตไวน์ นักท่องเที่ยวสามารถขับรถชมภายในสวนได้และบริเวณด้านหน้า เป็นร้านค้าที่จำหน่ายผลองุ่นสด ผักปลอดสารพิษ ไวน์ชาโต้ เดอ เลย บรั่นดี วิคตอรี่และสินค้าที่ระลึกต่างๆ การเดินทาง ใช้เส้นทางเมืองเลย-ภูเรือ-ด่านซ้าย ระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4289 1970


น้ำตกแก่งสองคอน
อยู่ที่บ้านหัวนายูง ตำบลด่านซ้าย การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 2013 (ด่านซ้าย-นครไทย) อยู่เลยพระธาตุศรีสองรักไปราว 400 เมตร ทางเข้าอยู่ข้างวัดเนรมิตวิปัสสนา (เข้าทางเดียวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กน้ำหมัน) เลี้ยวเข้าไปตามทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไป ลักษณะของน้ำตก เป็นธารน้ำกว้างไหลผ่านก้อนหินใหญ่น้อยมากมายลดหลั่นกันลงมาท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ เขียวครึ้มทั่วบริเวณ มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน


พระธาตุศรีสองรัก


ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 1 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวจังหวัด 83 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 203 แล้วแยกขวาตรงกิโลเมตรที่ 66 เข้าทางหลวงหมายเลข 2013 อีก 15 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้ายจากนั้นแยกขวาเข้าเส้นทาง 2113 อีก 1 กิโลเมตร
พระธาตุศรีสองรักมีรูปทรงลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง "บัวเหลี่ยม" คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง(เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง(แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ (หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้พระศาสนา โดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด)
สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 เสร็จในปีพ.ศ.2106 พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างกรุงศรีอยุธยา(สมัยพระมหาจักรพรรดิ)และกรุงศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทน์) สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ชาวด่านซ้ายหรือ "ลูกผึ้งลูกเทียน" จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้นโดยจะนำต้นผึ้ง (ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้างราว 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวกจากนั้นประดับด้วย "ดอกผึ้ง" ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลมๆ บางๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็กๆ ต่างเกสรดอกไม้สีสดใส ) เทียนเวียนหัว (เทียนแท่งที่ฟั่นยาวพอคาดได้รอบศีรษะ) มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ข้อควรฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก คือ ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่ม สวมหมวกและสวมรองเท้าขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ (หมายเหตุ : ก่อนท่านจะทำหรือประกอบพิธีใดๆ ที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน )

พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน

ตั้งอยู่ในวัดโพนชัย ถนนแก้วอาสา ห่างจากอำเภอด่านซ้ายประมาณ 2 กิโลเมตรตัวพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านเรือนไม้ จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองด่านซ้าย นิทรรศการผีตาโขน การสาธิตทำหน้ากากผีตาโขนและสินค้าของที่ระลึกผีตาโขนในรูปแบบต่างๆ สามารถเข้าชมและเลือกซื้อสินค้าได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.



อำเภอนาแห้ว

วัดโพธิ์ชัย
อยู่ที่ตำบลนาพึง การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 2113 (ด่านซ้าย-นาแห้ว) วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณปลายกรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปองค์แสนที่ประดิษฐานอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาสนั้น เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่บ้านคู่เมืองมาหลายชั่วอายุคน ประทับขัดสมาธิราบ พระพักตร์ยาวรี ยอดพระเมฬีเป็นเปลวเพลิง พระสังฆาฏิเป็นท้องนาค สันนิษฐานว่าเป็นพระเชียงแสน นอกจากนี้ ภายในวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อาราม มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติและวรรณกรรมท้องถิ่นที่ผนังด้านทิศเหนือ มีจารึกว่าภาพเขียนดังกล่าวเขียนขึ้นเมื่อจุลศักราช 1214 ตรงกับพ.ศ. 2395 ตรงกับช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่ด้านนอกพระอุโบสถหลังเดียวกันนี้ยังมีภาพจิตรกรรม ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยหลังคือเมื่อปี พ.ศ. 2459 นับเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีค่ายิ่งแห่งหนึ่งของจังหวัดเลย


อุทยานแห่งชาตินาแห้ว
ประกอบด้วยขุนเขาสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ มีภูสันทรายสภาพป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งที่มีไม้ผลัดใบผสม ตามพื้นที่สูงเป็นป่าดิบเขาเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างแผ่นดินไทย-ลาว ทางตอนเหนือของอำเภอ อุทยานฯ ได้จัดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 7.2 กิโลเมตร มีสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ หินสี่ทิศ อยู่บนภูสันทราย ด้านใต้ เป็นหินทรายใหญ่ 4 ก้อน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตั้งอยู่กลางป่าดิบ เนิน 1408 บนภูสันทราย จุดสูงที่สุดและเป็นจุดใจกลางของอุทยานฯ เนิน 1205 ห่างจากเนิน 1408 ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นประเทศลาว และยังเป็นจุดกางเต็นท์พักแรมด้วยเช่นกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 www.dnp.go.th


น้ำตกคริ้ง
อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ติดกับถนนสายเหมืองแพร่-ร่มเกล้า บริเวณน้ำตกมีพืชพันธุ์นานาชนิดขึ้นริมฝั่งทำให้ดูมีความอุดมสมบูรณ์ มีก้อนหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ ตอนล่างมีอ่างน้ำขนาดใหญ่ มีศาลาพักผ่อนสำหรับผู้มาเยือน


น้ำตกตาดเหือง (น้ำตกไทย-ลาว)

อยู่ห่างจากอำเภอประมาณ 25 กิโลเมตร บริเวณบ้านบ่อเหมืองน้อย เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่และสูงมาก เกิดจากลำน้ำเหือง บริเวณรอบ ๆ เป็นป่าทึบที่มีความอุดมสมบูรณ์

การเดินทาง ทางรถยนต์จากที่ว่าการอำเภอนาแห้วไปตามถนนสายนาแห้ว-ร่มเกล้า ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร และแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 13 กิโลเมตร เส้นทางตลอดสายเป็นทางลาดยาง จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตก


น้ำตกธารสวรรค์
อยู่หลังโรงเรียนนาแห้ววิทยา ซึ่งห่างจากอำเภอประมาณ 2 กิโลเมตร

การเดินทาง โดยรถยนต์เข้าถึงบริเวณน้ำตกได้โดยสะดวก น้ำตกแห่งนี้มีความสูงประมาณ 15 เมตร บริเวณน้ำตกมีศาลาสำหรับพักผ่อน ตอนล่างมีก้อนหินน้อยใหญ่เรียงราย มีสาหร่ายและพันธุ์ไม้นานาชนิดขึ้นบริเวณริมฝั่งสองข้างทาง



กิ่งอำเภอหนองหิน

สวนหินผางามหรือคุนหมิงเมืองเลย

อยู่ที่บ้านผางาม หมู่ 10 ตำบลปวนพุ จากกิ่งอำเภอหนองหินเข้าไปประมาณ 18 กิโลเมตร สวนหินผางาม ภายในมีเส้นทางเดินสลับซับซ้อน บางช่วงดูลึกลับน่าตื่นเต้นคล้ายกับผจญภัยอยู่ในเขาวงกต บางช่วงต้องปีนป่ายเพิงหิน หรืออาจต้องมุดลอดโพรงถ้ำ นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางยังมีโอกาสพบเห็นต้นไม้หายากและต้นไม้ยักษ์อย่างปรงเขาที่มีอายุหลายร้อยปี สวนหินแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "คุนหมิงเมืองเลย" นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำชมสวนหินผางามที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว


ถ้ำมโหฬาร
อยู่ที่บ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน อยู่ในบริเวณวัดถ้ำมโหฬาร การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (เลย-ชุมแพ) พอถึงกิโลเมตรที่ 162-163 เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามทางลาดยาง ประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีบริเวณกว้างขวาง มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยสลับซับซ้อนมากมาย


ถ้ำโพธิสัตว์หรือกุ้ยหลินเมืองเลย
ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านปวนพุ ตำบลปวนพุ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับสวนหิน ห่างจากปากทางราว 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตามทางลูกรัง 600 เมตร แล้วเลี้ยวซ้ายอีก 1.4 กิโลเมตร ก็จะถึงถ้ำ
ถ้ำแห่งนี้มีถ้ำเล็กถ้ำน้อยเรียงรายอยู่ใต้ยอดเขาทั้งหมด 15 คูหา แต่ละคูหามีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น เขาวงกต ถ้ำลับแล สวรรค์ชั้นต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตาอีกมากมาย การเข้าชมนั้นควรติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ อบต.ก่อน เนื่องจากไม่มีไฟฟ้า และการเดินถ้ำวกวนมาก ใช้เวลาในการเดินชมอย่างน้อย 1 ชั่วโมง


น้ำตกเพียงดิน หรือ น้ำตกวิสุทธารา
อยู่เลยสวนหินไป 2 กิโลเมตร น้ำตกเพียงดินเป็นน้ำตกขนาดกลาง แต่มีหลายชั้น บางชั้นก็ต้องปีนป่าย บางชั้นก็มีน้ำใสไหลเป็นแอ่ง ลงเล่นน้ำได้ไม่อันตราย บรรยากาศโดยรอบร่มรื่น เหมาะสำหรับพักผ่อน นั่งรับประทานอาหาร


น้ำตกสวนห้อมหรือน้ำตกสันติธารา
อยู่ที่บ้านสวนห้อม การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับสวนหิน แต่อยู่เลยเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร น้ำตกสวนห้อมเป็นน้ำตกขนาดกลาง มองเห็นได้แต่ไกล ไหลตกลงมาเป็นชั้น ๆ บริเวณน้ำตกร่มรื่นเหมาะสำหรับพักผ่อน


ที่มา www.rd.go.th/loei/186.0.html









สัญลักษณ์ประจำจังหวัด



สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

มีลักษณะวงกลม ตรงกลางมีรูปพระธาตุศรีสองรักสีขาวอยูํตรงกลาง





คำขวัญประจำจังหวัด

" เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู "




พันธุ์ไม้ประจำจังหวัด



ต้นสนสามใบ (Pinus Kesiya) 
เป็นต้นไม้ที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2538




ธงประจำจังหวัด



เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นสีฟ้า มีดวงตรารูปพระธาตุศรีสองรักอยู่ตรงกลาง

จังหวัดเลย

 


ประวัติจังหวัดเลย




เมืองเลย ได้ชื่อว่า "เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม" มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาว่า ก่อตั้งโดยชนเผ่าไทยที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก โดยพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้มีผู้คนอพยพจากอาณาจักรโยนก ที่ล่มสลายแล้ว ผ่านดินแดนลานช้างข้ามลำน้ำเหืองขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมันถึงบริเวณที่ราบพ่อขุนผาเมืองได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งมีซากวัดเก่าอยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลมกับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ) ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวได้แบ่งไพร่พลข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้ายสร้างบ้านด่านซ้าย(สันนิษฐาน ว่าอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปัจจุบัน) ต่อมาจึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำ ไปสร้างบ้านหนองคู และได้นำนามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามหมู่บ้านหนองคูใหม่เป็น " เมืองด่านซ้าย " อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยาง ในที่สุดโดยมีพ่อขุนผาเมืองอพยพผู้คนติดตามไปตั้งเมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ และอำเภอ วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์) และตั้งเมืองด่านซ้ายเป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกของเมืองบางยาง นอกจากนี้แล้ว ยังมีชาวโยนกอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน ระหว่างชายแดนตอนใต้ของอาณาเขตลานนาไทย ต่อแดนลานช้างอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงคราม ข้ามลำน้ำเหืองมาตั้งเมืองเซไลขึ้น (สันนิษฐานว่าอยู่ในท้องที่ หมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย) จากหลักฐานในสมุดข่อยที่มีการค้นพบเมืองเซไล อยู่ด้วยความ สงบร่วมเย็นมา จนกระทั่งถึงสมัยเจ้าเมืองคนที่ 5 เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตก จึงได้พาผู้คนอพยพ ไปตามลำแม่น้ำเซไล ถึงบริเวณที่ราบระหว่างปากลำห้วยไหลตกแม่เซไล จึงได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นขนานนามว่า " บ้านแห่ " (บ้านแฮ่) ส่วนลำห้วยให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน" ในปี พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาเห็นว่าหมู่บ้านแฮ่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง ห้วยน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับแม่น้ำเลย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้น สมควรจะได้ตั้งเป็นเมือง เพื่อประโยชน์ในการปกครองอย่างใกล้ชิด จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งเป็นเมืองเรียกชื่อตามนามของแม่น้ำเลยว่า "เมืองเลย" ต่อมา พ.ศ. 2440 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ ร.ศ.116 แบ่งการปกครองเมืองเลย ออกเป็น 4 อำเภอ อำเภอที่ตั้งเมืองเรียกชื่อว่า "อำเภอกุดป่อง" ต่อมา พ.ศ. 2442-2449 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยเป็น "บริเวณลำน้ำเลย" พ.ศ. 2449 - 2540 เปลี่ยนชื่อบริเวณลำน้ำเลยเป็นบริเวณลำน้ำเหือง และใน พ.ศ. 2450 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2450 ยกเลิกบริเวณลำน้ำเหือง ให้คงเหลือไว้เฉพาะ "เมืองเลย" โดยให้เปลี่ยนชื่ออำเภอกุดป่อง เป็นอำเภอเมืองเลย

ที่ตั้งจังหวัดเลย


จังหวัดเลยเป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่เหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 11,424 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,140,383 ไร่ (ประมาณร้อยละ 6.74 ของเนื้อที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ) พื้นที่ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 70 เป็น ป่าและภูเขสูงสลับซับซ้อน ตัวจังหวัดห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 550 กิโลเมตร ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ มีอาณาเขตชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง เป็นแนวพรมแดน ระยะทางยาว 194 กิโลเมตร และจังหวัดเลย มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน

ทิศใต้ ติดต่อ อ. ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น , อ.น้ำหนาว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

ทิศตะวันออก ติดต่อ อ.สังคม จ.หนองคาย, อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี, กิ่ง อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู ,อ.สีชมภู จ.ขอนแก่น

ทิศตะวันตก ติดต่อ อ.นครไทย อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก

โดยแนวชายแดนที่ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองเป็นแนวกั้น อาณาเขต รวมระยะทาง 194 กม. (กิโลเมตร)
- แม่น้ำโขงระยะทางยาว 71 กม. (อยู่ในเขต อ.ปากชม อ.เชียงคาน)
- แม่น้ำเหืองระยะทางยาว 123 กม. (อยู่ในเขต อ.ท่าลี อ.ภูเรือ อ.ด่านซ้าย อ.นาแห้ว)



ลักษณะภูมิประเทศ

จังหวัดเลย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบสูง โคราช ที่เรียกว่า ?แอ่งสกลนคร ภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็น เทือกเขาในแนวทิศเหนือใต้โดยมีที่ราบลุ่มระหว่าง หุบเขา ขนาดไม่ใหญ่มากนัก สลับอยู่แนวเทือกเขาเหล่านั้น หินที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นหินมีอายุมาก

ลัักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดเลยอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขา ท้าให้มีอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และหนาวจัดในฤดูหนาว จังหวัดเลยมี พื้นที่เป็นภูเขาสูง จึงทําให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงง่าย อุณหภูมิสูงสุด 43.5 องศาเซลเซียส ( 25 เมษายน 2517) และ ตํ่าสุด ประมาณ -1.3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 26.1 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม จะมีลม มรสุมหรือแนวปะทะโซนร้อน (Inter Tropical Convergence Zone: ITCZ) พาดผ่านเป็นครั้งคราวท้าให้มีฝนตก หนัก ปริมาณนํ้าฝน 5 ปีย้อนหลังเฉลี่ย 1,299 มม. จํานวนฝนตกรวม จํานวน 129 วัน โดยในปี พ.ศ. 2540 มีปริมาณนํ้าฝนน้อยที่สุดวัดได้ ปริมาณ 968.8 มม. และปริมาณนํ้าฝนมากที่สุดปี พ.ศ.2542 วัดได้ปริมาณ 1,549 มม. สําหรับฤดูกาลต่าง ๆ ของจังหวัดเลย มีรายละเอียดดังนี้

- ฤดูร้อน เริ่มจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม (มีอุณหภูมิสูงสุด เดือนเมษายน ในปี พ.ศ. 2517 อุณหภูมิสูงสุดถึง 43.5 องศาเซลเซียส)

- ฤดูฝน เริ่มจากเดือนพฤษภาคม - ปลายเดือนกันยายน (ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ย 1,299 ม.ม.ต่อปี จากค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำฝน ปี พ.ศ. 2540 - 2545 )

- ฤดูหนาว เริ่มจากกลางเดือนตุลาคม - ปลายเดือนกุมภาพันธ์ (มีอุณหภูมิต่ำสุดที่เคยวัดได้ในท้องที่อำเภอภูเรือ -1.3 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ. 2517)



แผนที่จังหวัดเลย